รมว.ศธ. เปิดประชุมแก้หนี้ครู ระดับเขตพื้นที่การศึกษา ย้ำเป็นพันธกิจเร่งด่วน
8 เมษายน 2565 – นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา ระดับเขตพื้นที่การศึกษาและหน่วยงานทางการศึกษา ณ ห้องประชุม สพฐ. 1 โดยมีนายสุทธิชัย จรูญเนตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, นายสุทิน แก้วพนา รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เข้าร่วมประชุม พร้อมด้วยคณะกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาระดับเขตพื้นที่การศึกษาและหน่วยงานทางการศึกษา ผ่านระบบ ZOOM Meeting จำนวนประมาณ 7,215 คน จากจำนวนสถานีแก้หนี้ครูฯ ทั้งหมด 481 แห่ง
รมว.ศธ. กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้แต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ โดยมีนายสุทธิชัย จรูญเนตร ที่ปรึกษา รมว.ศธ. เป็นประธาน และมีรองปลัด ศธ. รวมทั้งผู้บริหารระดับสูงและคณะกรรมการอีกหลายท่านมาร่วมดูแลเป็นการเฉพาะ เพื่อแสวงหาแนวทางช่วยเหลือเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งสามารถนำเสนอการแก้ไขให้ประจักษ์เป็นรูปธรรมได้อย่างชัดเจนด้วยมาตรการขับเคลื่อน 4 มาตรการ ได้แก่ 1) การลดดอกเบี้ย 2) การพิจารณาและควบคุมการอนุมัติเงินกู้อย่างเคร่งครัด 3) การจัดตั้งสถานีแก้หนี้ครูฯ 4) การให้ความรู้ด้านการเงินแก่ครู โดยกำหนดให้เป็นพันธกิจเร่งด่วนร่วมกัน เพื่อการช่วยเหลือเพื่อนครูอย่างเต็มกำลังความสามารถ ทำให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาได้รับการยกระดับคุณภาพชีวิตที่สูงมากขึ้น
ที่ปรึกษา รมว.ศธ. กล่าวว่า ขณะนี้ ศธ. ได้จัดตั้งตั้งสถานีแก้หนี้ครูโดยเฉพาะขึ้นมา 2 สถานี คือ สถานีแก้หนี้ครูในระดับเขตพื้นที่การศึกษา และสถานีแก้หนี้ครูในระดับจังหวัด โดยในระดับจังหวัดได้จัดประชุมชี้แจงรายละเอียดให้ไปแล้วเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ส่วนวันนี้เป็นการประชุมเพื่อชี้แจงรายละเอียดให้กับคณะกรรมการแก้ไขหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาในระดับเขตพื้นที่การศึกษาและหน่วยงานทางการศึกษา ซึ่งมีเรื่องหลัก คือ ชี้แจงความเป็นมาและความสำคัญของโครงการแก้ไขหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา แจ้งให้ทราบถึงบทบาท อำนาจหน้าที่ ขอบเขตการดำเนินงาน แนวปฏิบัติในการแก้หนี้ รวมทั้งการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อเลือกใช้เครื่องมือในการแก้ไขปัญหา
โดยก่อนหน้านี้ เปิดให้ครูทั้งประเทศลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ “สร้างโอกาสใหม่ให้ครูไทย” ตั้งแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ – 15 มีนาคม 2565 ขณะนี้มีครูและบุคลากรทางการศึกษาลงทะเบียนแก้หนี้แล้วกว่า 41,000 ราย ซึ่งรายชื่อเหล่านี้จะถูกส่งไปในระดับเขตพื้นที่ฯ ว่ามีจำนวนเท่าไร มีใครบ้าง จากนั้นเขตพื้นที่ฯ จะมีหน้าที่เชิญผู้ลงทะเบียนมาหารือกันว่าอยากให้ช่วยแก้ปัญหาด้านใดบ้าง ซึ่งความต้องการของแต่ละคนก็จะมีความแตกต่างกันไป
ทั้งนี้ มีการแยกข้อมูลความต้องการของครูที่ลงทะเบียน พบว่าความต้องการลำดับแรก คือ การลดดอกเบี้ยเงินกู้ มีจำนวนกว่า 30,000 ราย นอกนั้นจะเป็นเรื่องของการช่วยปรับโครงสร้างหนี้ เรื่องของความเดือดร้อนในฐานะผู้ค้ำประกัน หรือการจ่ายค่าธรรมเนียมบางรายการที่ไม่จำเป็น และบางส่วนที่กำลังจะถูกดำเนินคดีเนื่องจากไม่มีความสามารถชำระหนี้ได้
ด้านการดำเนินการตามมาตรการลดดอกเบี้ย ขณะนี้มีสหกรณ์ออมทรัพย์ครูไม่น้อยกว่า 70 แห่ง จากทั้งหมด 108 แห่ง เข้าร่วมปรับอัตราดอกเบี้ยแล้ว โดยจะปรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลงตั้งแต่ 0.05-1.0% และมีสหกรณ์จำนวน 11 แห่ง สามารถปรับลดดอกเบี้ยต่ำกว่า 5% แล้ว โดยจะเร่งแก้ปัญหาให้ครูที่ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการครั้งนี้ก่อน และคาดว่าภายใน 1-2 เดือน จะขยายผลเปิดให้ลงทะเบียนเฟส 2 ต่อไป
นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวถึงบทบาทสถานีแก้หนี้ครูฯ เป็นอีกมาตรการสำคัญของ ศธ. ซึ่งมีการจัดตั้งสถานีแก้หนี้ครูฯ ระดับเขตพื้นที่การศึกษา และหน่วยงานทางการศึกษา 481 แห่ง และระดับจังหวัด 77 จังหวัด รวม 558 สถานีทั่วประเทศ โดยดำเนินการในรูปคณะกรรมการ ซึ่งสถานีแก้หนี้ครูฯ ระดับเขตพื้นที่การศึกษา กำหนดให้ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) เป็นประธาน มีอำนาจหน้าที่กำหนดแนวทางแก้หนี้ร่วมกับสหกรณ์ออมทรัพย์ครู ส่วนราชการ และสถาบันการเงิน, จัดทำระบบข้อมูล, ปรับปรุง กำหนดมาตรการหักเงินเดือนเพื่อชำระหนี้, รับลงทะเบียนแก้ไขปัญหาหนี้สินครูฯ ช่วยเจรจาไกล่เกลี่ยระหว่างเจ้าหนี้กับครูและผู้ค้ำประกัน ส่วนสถานีแก้หนี้ครูฯ ระดับจังหวัด มีผู้ว่าราชการจังหวัด หรือรองผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน กำกับดูแลในภาพรวมของจังหวัด บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นภายในจังหวัด ช่วยเหลือสถานีแก้หนี้ตามที่ได้รับการร้องขอ
ทั้งนี้ ขอให้สถานีแก้หนี้ครูฯ เริ่มต้นทำ “ฐานข้อมูลครู” เป็นรายบุคคลให้ชัดเจน หาสาเหตุให้เจอ และแก้ปัญหาแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยเฉพาะกลุ่มครูที่หักเงินเดือนเหลือไม่ถึง 30% ต้องหาวิธีการแก้ไขปัญหาให้ได้ เช่น ประนอมหนี้ ยืดอายุเงินกู้ ฯลฯ หรือกลุ่มครูในภาวะวิกฤต จะเข้าไปช่วยได้อย่างไร เพราะหนี้สินครูก็เหมือนโรคภัยไข้เจ็บของแต่ละคนย่อมไม่เหมือนกัน การแก้ไขปัญหาครูจึงแตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มครูที่บรรจุใหม่ ซึ่งเพิ่งเริ่มต้นทำงาน เงินเดือนน้อย ยังไม่มีเงินวิทยฐานะ และกลุ่มครูชำนาญการขึ้นไป ซึ่งมีเงินวิทยฐานะ มารวมกับอัตราเงินเดือน ทำให้ฐานเงินกู้เยอะมาก แต่เมื่อเกษียณไปแล้ว จะถูกปรับลดเงินเดือนลง และไม่ได้รับเงินวิทยฐานะ จึงทำให้เกิดปัญหาการชำระหนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
นายสุทิน แก้วพนา รองปลัด ศธ. กล่าวตอนหนึ่งถึงบทบาทที่สำคัญการปรับโครงสร้างหนี้ของสถานีแก้หนี้ครูฯ มี 8 วิธีในการดำเนินการช่วยเหลือเพื่อนครู คือ 1) ยืดระยะเวลาผ่อนชำระหนี้ 2) พักชำระเงินต้น 3) ลดอัตราดอกเบี้ย 4) ยกหรือผ่อนปรน 5) เพิ่มเงินทุนหมุนเวียน 6) เปลี่ยนประเภทหนี้ 7) ปิดจบจ่ายคืนหนี้เร็วขึ้น 8) รีไฟแนนซ์ปิดสินเชื่อจากที่เดิม ซึ่งสถานีแก้หนี้ครูฯ จะเข้ามาเป็นตัวกลางในการไกล่เกลี่ย หรือประนอมหนี้ด้วย