ปลัด ศธ. ลงนามกรอบความร่วมมือ ด้านการเรียนการสอนภาษาจีน
มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2565 ที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เห็นชอบกรอบความร่วมมือว่าด้วยการส่งเสริมความร่วมมือด้านการเรียนการสอนภาษาจีน ระหว่าง ศธ. กับศูนย์แลกเปลี่ยนและส่งเสริมความร่วมมือด้านภาษาจีนระหว่างประเทศ กระทรวงศึกษาธิการแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อร่างกรอบความร่วมมือว่าด้วยการส่งเสริมความร่วมมือด้านการเรียนการสอนภาษาจีน ระหว่างกระทรวงศึกษาธิการแห่งราชอาณาจักรไทย กับศูนย์แลกเปลี่ยนและส่งเสริมความร่วมมือด้านภาษาจีนระหว่างประเทศ กระทรวงศึกษาธิการแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (กรอบความร่วมมือฯ) โดยให้ปลัด ศธ. เป็นผู้ลงนามในกรอบความร่วมมือฯ
สาระสำคัญของร่างกรอบความร่วมมือฯ เพื่อใช้เป็นแนวทางการดำเนินความร่วมมือในด้านการส่งเสริมและพัฒนาการศึกษาภาษาจีนระหว่างประเทศ เพื่อก่อให้เกิดการขยายผลและยกระดับคุณภาพการเรียนการสอนภาษาจีน โดยมีสาขาความร่วมมือ ประกอบด้วย
- การพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนภาษาจีน โดยศูนย์ความร่วมมือด้านภาษาจีนฯ จะแนะนำผู้เชี่ยวชาญและปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอนภาษาจีนในระดับต่าง ๆ ของประเทศไทยให้เหมาะสม
- การวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนการสอนภาษาจีน โดยร่วมกันจัดตั้งผู้เชี่ยวชาญด้านการเรียนการสอนภาษาจีนจากทั้ง 2 ฝ่าย เพื่อดำเนินการวิจัยอย่างเป็นระบบในการพัฒนาการเรียนการสอนภาษาจีน และกำหนดแผนการทำงานสำหรับทุก 5 ปี ตามความต้องการของฝ่ายไทย
- การฝึกอบรมครูสอนภาษาจีนชาวไทย มีการดำเนินการ ดังนี้
(1) ศูนย์ความร่วมมือด้านภาษาจีนฯ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และ ศธ. ร่วมกันดำเนินโครงการความร่วมมือด้านภาษาระหว่างสถาบันอุดมศึกษาจีน-ไทย
(2) มอบทุนการศึกษาสำหรับครูสอนภาษาจีนชาวไทย
(3) ฝึกอบรมครูสอนภาษาจีนชาวไทยในหลากหลายรูปแบบ ทั้งในประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน - การจัดส่งครูสอนภาษาจีนในรูปแบบที่หลากหลาย โดยศูนย์ความร่วมมือด้านภาษาจีนฯ จะจัดส่งครูสอนภาษาจีนประเภทต่าง ๆ มาเพื่อสนับสนุนการเรียนการสอนภาษาจีนในประเทศไทยและจัดหาครูผู้ดูแลและประสานงานโครงการครูอาสาสมัครสอนภาษาจีนนานาชาติ (ครูอาสาสมัครฯ) และโครงการอื่นที่เกี่ยวข้องให้มาประจำการที่ประเทศไทย ส่วน ศธ. จะคัดเลือกผู้เชี่ยวชาญด้านการสอนภาษาจีนของประเทศไทยให้เดินทางไปฝึกอบรมความรู้พื้นฐานด้านภาษาและวัฒนธรรมให้แก่ครูอาสาสมัครฯ ณ สาธารณรัฐประชาชนจีน และอำนวยความสะดวกด้านเอกสารประกอบการขอรับการตรวจลงตราหนังสือเดินทาง (วีซ่า) ให้แก่ครูผู้ดูแลและประสานงานโครงการฯ
- การแข่งขันกล่าวสุนทรพจน์และความสามารถด้านภาษาจีน “สะพานสู่ภาษาจีน” โดย ศธ. จะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการคัดเลือกนักเรียนเพื่อไปแข่งขันในรอบชิงชนะเลิศระดับโลก ณ สาธารณรัฐประชาชนจีน และศูนย์ความร่วมมือด้านภาษาจีนฯ จะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีนของผู้เข้าแข่งขัน
- โครงการจีนศึกษาแบบใหม่ โดยศูนย์ความร่วมมือด้านภาษาจีนฯ จะช่วยเหลือนักเรียน เยาวชน ผู้เชี่ยวชาญ และนักวิชาการไทยที่มีความโดดเด่นและมีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไขของโครงการเพื่อเดินทางไปศึกษาต่อในระดับปริญญาหรือทำการวิจัย ณ สาธารณรัฐประชาชนจีน
- การส่งเสริมและขยายระบบการทดสอบวัดระดับความรู้ภาษาจีน โดยสนับสนุนให้การสอบวัดระดับความรู้ภาษาจีน (Hanyu Shuiping Kaoshi: HSK) และการสอบวัดระดับความรู้ภาษาจีนสำหรับเยาวชน (Youth Chinese Test: YCT) เข้าสู่ระบบการเรียนการสอนในหลักสูตรภาษาจีนของ ศธ. และเป็นมาตรฐานของการประเมินผลการเรียนการสอนภาษาจีน
- การรับรองคุณภาพครูภาษาจีนนานาชาติ โดยศูนย์ความร่วมมือด้านภาษาจีนฯ จะช่วยสนับสนุน ศธ. ในการจัดการทดสอบเพื่อรับใบรับรองคุณภาพครูภาษาจีนนานาชาติ
ทั้งนี้ กรอบความร่วมมือฯ จะมีผลนับตั้งแต่วันที่ทั้ง 2 ฝ่ายลงนาม โดยจะมีอายุ 5 ปี และขยายระยะเวลาออกไปอีก 5 ปี โดยอัตโนมัติ เว้นแต่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแจ้งยกเลิกเป็นลายลักษณ์อักษรให้อีกฝ่ายหนึ่งได้ทราบล่วงหน้าอย่างน้อย 90 วัน
นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อร่างกรอบความร่วมมือว่าด้วยการส่งเสริมความร่วมมือด้านการเรียนการสอนภาษาจีนระหว่างกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กับศูนย์แลกเปลี่ยนและส่งเสริมความร่วมมือด้านภาษาจีนระหว่างประเทศ (ศูนย์ความร่วมมือด้านภาษาจีนฯ) กระทรวงศึกษาธิการแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ดังนี้
1. แผนความร่วมมือด้านภาษาระหว่างมหาวิทยาลัยไทยและจีน มีการดำเนินการดังนี้ (1) โครงการพัฒนาครูผู้สอนภาษาจีนในรูปแบบ 3+1 (ศึกษาในประเทศไทยเป็นเวลา 3 ปี และศึกษาที่สาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นเวลา 1 ปี) (2) โครงการทุนการศึกษาระดับปริญญาโทและปริญญาเอก (3) โครงการจีนศึกษาแบบใหม่ว่าด้วยการแลกเปลี่ยนระยะสั้น
2. แผนความร่วมมือด้านการพัฒนาครูในด้านภาษาจีนและอาชีวศึกษาและเทคโนโลยี โดยมหาวิทยาลัยไทยและจีนจะดำเนินการร่วมกันในรูปแบบของการจับคู่ความร่วมมือในการพัฒนาหลักสูตรภาษาจีน รวมทั้งพัฒนาอาจารย์และครูผู้สอนระดับอาชีวศึกษาในด้านภาษาจีนและอาชีวศึกษาและเทคโนโลยี
3. การแข่งขันกล่าวสุนทรพจน์และความสามารถด้านภาษาจีน “สะพานสู่ภาษาจีน” โดย อว. จะทำการคัดเลือกผู้เข้าแข่งขันที่มีความสามารถโดดเด่นเพื่อเข้าร่วมการแข่งขันในรอบชิงชนะเลิศระดับโลกในระดับอุดมศึกษา ณ สาธารณรัฐประชาชนจีน
4. ครูอาสาสมัครสอนภาษาจีน (ครูอาสาสมัครฯ) โดยศูนย์ความร่วมมือด้านภาษาจีนฯ จะจัดส่งครูอาสาสมัครฯ ไปยังสถาบันอุดมศึกษาภายใต้สังกัด อว. เพื่อสอนภาษาจีนตามความต้องการและสอดคล้องกับสถานการณ์จริง
5. การใช้ผลสอบวัดระดับความรู้ภาษาจีน (Hanyu Shuiping Kaoshi: HSK) เป็นเกณฑ์มาตรฐานในการทดสอบระดับภาษาจีนของสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทย โดยทั้ง 2 ฝ่ายจะส่งเสริมให้มีการพิจารณาใช้ผลสอบ HSK เป็นส่วนหนึ่งสำหรับการสำเร็จการศึกษาของนักศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาวิชาเอกภาษาจีนในมหาวิทยาลัยไทย
6. ทุนสนับสนุนแปลงานวิจัย โดยสนับสนุนให้นักวิชาการไทยเข้าร่วมโครงการจีนศึกษาแบบใหม่ของศูนย์ความร่วมมือด้านภาษาจีนฯ เพื่อตีพิมพ์หรือแปลผลงานทางวิชาการและวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอก
7. การจัดฝึกอบรมหลักสูตรภาษาจีนสำหรับบุคลากรของ อว. เพื่อพัฒนาทักษะการสื่อสารภาษาจีน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับการใช้ภาษาจีน
ที่มา : https://moe360.blog/2022/04/12/cabinet-resolution-chinese-lang/