ครูเฮ ก.ค.ศ. เห็นชอบหลักเกณฑ์ ย้ายครูสังกัด ศธ. ลดระยะเวลาจาก 2 ปี

ผลการประชุม ก.ค.ศ. เห็นชอบหลักเกณฑ์ ย้ายครูสังกัด ศธ. ลดระยะเวลาจาก 4 ปี เหลือ 2 ปี สามารถขอย้ายได้ ม.ค.ปี2566

ผลการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ครั้งที่ 7/2565

โดยมีนางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธานการประชุม โดยมีผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการ
และมี รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการ ก.ค.ศ. เป็นเลขานุการการประชุมซึ่งที่ประชุมได้มีการพิจารณาเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาและมีมติที่สำคัญ ดังนี้

  1. เห็นชอบ (ร่าง) หลักเกณฑ์และวิธีการย้ายข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครู สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ
    สืบเนื่องจากที่ ก.ค.ศ. ได้ประกาศใช้หลักเกณฑ์และวิธีการย้ายข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครู สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ มาเป็นระยะเวลานานแล้ว หลักเกณฑ์ดังกล่าวจึงไม่สอดคล้อง
    กับสถานการณ์และบริบทที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน รวมถึงองค์ประกอบเพื่อใช้พิจารณาการย้ายกรณีปกติ
    ยังไม่สอดคล้องกับมาตรฐานตำแหน่งที่กำหนดขึ้นใหม่ตาม ว 3/2564 ซึ่งเดิมหลักเกณฑ์และวิธีการย้ายฯ กำหนดให้ดำรงตำแหน่งครูผู้ช่วย 2 ปี และดำรงตำแหน่งครู อีก 2 ปี รวมเวลา 4 ปี ถึงจะยื่นคำร้องขอย้ายได้
    ทำให้ข้าราชการครูฯ ที่ได้รับการบรรจุและแต่งตั้งในสถานศึกษาที่อยู่ห่างไกลภูมิลำเนาต้องรับภาระค่าครองชีพที่สูงขึ้น และขาดขวัญกำลังใจในการทำงาน ก.ค.ศ.พิจารณาแล้วเห็นว่า เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาดังกล่าวที่เกิดขึ้น และเพื่อประโยชน์ในการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา รวมถึงเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา อันจะส่งผลถึงการพัฒนาคุณภาพของการศึกษา
    จึงได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการย้ายข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครู

สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ โดยสรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

  1. กำหนดให้นำหลักเกณฑ์และวิธีการย้ายฯ ไปใช้ย้ายครูกับทุกส่วนราชการในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ
  2. กำหนดการย้ายเป็น 3 กรณี ได้แก่ การย้ายกรณีปกติ การย้ายกรณีพิเศษ และการย้ายเพื่อประโยชน์ของทางราชการ
  3. การปรับแก้/เพิ่มเติม การย้ายในแต่ละกรณี ดังนี้

การย้ายกรณีปกติ

  1. คุณสมบัติของผู้ขอย้าย โดยผู้ที่ดำรงตำแหน่งครูผู้ช่วย เมื่อพ้นการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้มและได้รับคำสั่งแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งครูแล้ว สามารถยื่นคำร้องได้เลย (ไม่ต้องรอ 4 ปี)
  2. ได้ปฏิบัติงานในหน้าที่ความรับผิดชอบในการจัดการเรียนการสอนในสถานศึกษาปัจจุบันติดต่อกันมาแล้วไม่น้อยกว่า 24 เดือน นับถึงวันสุดท้ายที่กำหนดให้ยื่นคำร้องขอย้าย โดยสามารถนำระยะเวลาที่
    เตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้มในสถานศึกษานั้น ไม่น้อยกว่า 24 เดือนมาใช้ได้
    3. ให้ยื่นคำร้อง 2 ครั้ง คือ ครั้งที่ 1 ยื่นคำร้องเดือนมกราคม ให้ใช้พิจารณาย้ายระหว่างวันที่ 15 ก.พ. – 30 เม.ย.
    และครั้งที่ 2 ยื่นคำร้องเดือนกรกฎาคม ให้ใช้พิจารณาย้ายระหว่างวันที่ 1 ก.ย. – 31 ต.ค.
    4. องค์ประกอบการพิจารณาย้าย ปรับให้สอดคล้องกับมาตรฐานตำแหน่งฯ ว 3/2564

การย้ายกรณีพิเศษ เพิ่มเติมรายละเอียดเหตุของการย้ายให้ชัดเจนขึ้น และกำหนดให้ผู้ขอย้ายระบุอำเภอ
ในจังหวัดที่ประสงค์ขอย้ายไปดำรงตำแหน่ง เพื่อให้ผู้ขอย้ายได้รับการช่วยเหลือโดยเร็ว โดยให้ สพท. ที่รับย้าย เป็นผู้พิจารณาสถานศึกษาให้ไปดำรงตำแหน่ง และต้องดำเนินการนำเสนอ กศจ. พิจารณาให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ภายใน 45 วัน

การย้ายกรณีเพื่อประโยชน์ของทางราชการ กำหนดเหมือนเดิม เนื่องจากหลักเกณฑ์และวิธีการฯ เดิมได้กระจายอำนาจให้ สพท. หรือส่วนราชการอื่นเป็นผู้พิจารณาย้ายได้ตามความเหมาะสมโดยคำนึงถึงประโยชน์
ของทางราชการ ในกรณี ดังนี้

  1. การย้ายเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา
  2. การย้ายเพื่อแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการในสถานศึกษา
    3.การย้ายเพื่อเกลี่ยอัตรากำลังของสถานศึกษา
    ทั้งนี้ ให้ยกเลิกหลักเกณฑ์และวิธีการย้ายข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครู
    ตามหนังสือสำนักงาน ก.ค.ศ. ที่ ศธ 0206.3/ว 8 ลงวันที่ 5 กรกฎาคม 2549 ที่ ศธ 0206.4/ว 24 ลงวันที่
    28 ธันวาคม 2559 และที่ ศธ 0206.4/ว 32 ลงวันที่ 29 พฤศจิกายน 2564 ด้วย
  3. อนุมัติ บรรจุและแต่งตั้งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ผู้ได้รับการคัดเลือกและผ่านการพัฒนาก่อนแต่งตั้งฯ ให้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สังกัด สพฐ. จำนวน 3 ราย ตั้งแต่ลำดับที่ 279 – 282 (ลำดับที่ 281 บันทึกแจ้งขอสละสิทธิการบรรจุและแต่งตั้งไปดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2565) โดยคงให้รับเงินเดือนและได้รับ
    วิทยฐานะตามที่ได้รับอยู่เดิม ทั้งนี้ ให้มีผลการแต่งตั้ง ตั้งแต่วันที่ 27 กรกฎาคม 2565

ที่มา : https://moe360.blog/2022/07/27/27765/